วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ภัยใกล้ตัวบนอินเตอร์เน็ต



ภัยร้ายใกล้ตัวบน 'อินเทอร์เน็ต' ระวังเดิน ซ้ำรอยปัญหาสังคม



         เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ทุกชนิดเมื่อมีประโยชน์ต้องมีโทษ โดยเฉพาะกับเทคโนโลยี “อินเทอร์เน็ต” ที่เป็นเรื่องยากต่อการเข้าใจให้ถ่องแท้ในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น ผู้ใช้งานต้องมีความสนใจและใฝ่รู้อย่างจริงจัง มิฉะนั้น อาจ จะเกิดความเข้าใจไม่ถูกต้องแล้วนำไปใช้งานแบบผิดๆ
แต่ถ้าหากจะคิดจากพื้นฐานความเป็นจริงในโลกยุคปัจจุบันแล้ว อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่คนไทยและคนทั่วโลกหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาและประโยชน์ก็มีมากมายเกินกว่าที่จะนำเอาโทษของมันมาเป็นข้ออ้างในการใช้งาน และจำกัดเสรีภาพการสื่อสารบนเครือข่ายไร้พรมแดนเช่นนี้     
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ในฐานะหน่วยงานผู้มีหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจึงจัดการสัมมนาในหัวข้อ “ภัยทางอินเทอร์เน็ตและการสื่อสาร: ภัยร้ายสายพันธุ์ใหม่ในสังคมไทย” ขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้

       นางมณีรัตน์ ผลิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวถึงปัญหาภัยทางอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารว่า ในยุคปัจจุบันมีผู้ก่ออาชญากรรมผ่านอินเทอร์เน็ตรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น การล่อลวงผ่านแชทรูม เกมออนไลน์และอีเมล์ขยะ เพราะสามารถดึงดูดลูกค้ามากมายและก่อให้เกิดรายได้มูลค่ามหาศาล และที่สำคัญ คือ เป็นการประกอบธุรกิจประเภทหนึ่งที่ความผิดและผู้กระทำผิดไม่อาจถูกติดตามมาลงโทษได้โดยง่าย
“ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมักคิดว่า ไม่มีอะไรต้องกังวลในเรื่องความปลอดภัย จึงไม่จำเป็นต้องป้องกันตัวเองจากภัยบนอินเทอร์เน็ต แต่ลืมคิดไปว่า อาชญากร หรือ ผู้ประสงค์ร้ายก็อาจใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ที่ทันสมัยเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความเสียหาย หรือ อันตรายต่อชีวิต ร่างกายและจิตใจผู้เสียหายและครอบครัวโดยง่าย ทำให้วันนี้ จะมารอให้แต่ภาครัฐแก้ปัญหาฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะคงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ” รองปลัด ไอซีที กล่าว
จากประสบการณ์ทำงานส่งเสริมและควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต นางมณีรัตน์ ยืนยันว่า ความก้าวหน้าอินเทอร์เน็ตและความฉลาดของอาชญากรบนอินเทอร์เน็ตสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้แก่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยว ข้อง ดังนั้น จึงจำเป็นที่สังคมจะต้องร่วมกันสอดส่องดูแลและช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างมีระบบภายใต้ข้อเสนอแนะของผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้มีประสบการณ์ด้านไอซีที
ด้าน พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สะท้อนสภาพปัญหาภัยบนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมายว่า ปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาด้านเทคนิคคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังถือเป็นปัญหาทางสังคม เพราะทำให้ผู้ที่ถูกภัยบนอินเทอร์เน็ตคุกคาม โดยเฉพาะเด็กไม่สนใจการเรียน ขาดความรับผิดชอบและขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว   
ส่วนที่ว่า ปัญหาภัยบนอินเทอร์เน็ต เช่น เกมออนไลน์และแชทรูม มักเกิดขึ้นกับเด็กนั้น ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กล่าวว่า เป็นเพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ เพราะจากผลสำรวจและประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหลายๆ ประเทศพบว่า ปัญหาลักษณะนี้ มีในประเทศไทยเท่านั้น เพราะเด็กในประเทศอื่นๆ แบ่งเวลาและแยกแยะว่า จะเล่นเกม หรือ แชทรูม เพื่อพักผ่อนและคลายเครียด
ภาวะเช่นนี้ เรื่องของการป้องกันและดำเนินคดีก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องแสดงออกถึงการทำหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ แต่ พ.ต.อ.ญาณพล กล่าวว่า การดำเนินคดีทำได้ยากแม้จะรู้ว่า ใครและคอมพิวเตอร์เครื่องใดถูกใช้กระทำความผิด อีกทั้งคดีลักษณะนี้ มักเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและที่สำคัญ คือ กฎหมายไทยตามไม่ทันทำให้ไม่มีกฎหมายด้านนี้ โดยตรง ดัง นั้น แนวทางที่ดีทีสุด คือ ทุกฝ่ายในสังคมต้องช่วยกัน  
ขณะที่ นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข นักกฎหมายจากศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ให้ข้อมูลว่า จากสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 มีการแจ้งคนหายมากกว่า 600 คน โดย 100% ของเด็กผู้ชายที่หายไปเชื่อว่า มาจากการติดเกมออนไลน์จนต้องผันตัวเองไปเกมร้านอินเทอร์เน็ตและเกม หรือ กลายเป็นเด็กเร่ร่อนเพื่อหารายได้มาเล่นเกม ซึ่งจากภาวะดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ภัยบนอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ในเรื่องที่ว่า ภัยบนอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นนั้น มีข้อมูลยืนยันจาก ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน นายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และนายกสมาคมอินเทอร์เน็ตนานาชาติ สาขาประเทศไทยและ ดร.จินตวีร์ มั่นสกุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งมั่นใจว่า ภัยบนอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์และดร.จินตวีร์ เปิดเผยว่า ในปี 2548 ที่ผ่านมา มีรายงานการแจ้งความเสียหายของอีเมล์จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมากถึง 11 ล้านฉบับและมีการโจรกรรมข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 1 ถึง 81% ขณะที่แนวโน้มภัยบนอินเทอร์เน็ตในปี 2549 จะแฝงมาจากโปรแกรมสนทนาและการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง เช่น อีเมล์ขยะ ไวรัส แอดแวร์และการโจรกรรมข้อมูลต่างๆ  
สำหรับภัยคุกคามบนอินเทอร์เน็ตที่เป็นภัยต่อกลุ่มเด็ก สตรีและประชาชนในประเทศไทย ศ.ดร.ศรีศักดิ์และดร.จินตวีร์ เปิด เผยว่า จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบคโพลล์ พบว่า เป็นเว็บลามกและเว็บพนันบนอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ประมาณ 4-5 ล้านเว็บไซต์ จากจำนวนเว็บไซต์ทั้งหมดประมาณ 8,000 ล้านเว็บไซต์ ตามมาด้วยการล่อลวง โดยเฉพาะเด็กและสตรีผ่านแชทรูม-อีเมล์และปัญหาเกมออนไลน์
เป็นอันว่า การสัมมนาเกี่ยวกับภัยทางอินเทอร์เน็ตก็ผ่านพ้นไปอีกครั้งหนึ่ง น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรายังไม่มีข้อกฎหมาย หรือ มาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่า จะป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยทางอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีไหน อย่างไร แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้ ไม่ง่ายเพียงแค่จัดการสัมมนาและพูดว่า ให้ทุกส่วนในสังคมช่วยกันแล้วจบ เพราะมันยังมีเรื่องที่ต้องคิดคำนึงให้รอบคอบ เพื่อใช้สำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาให้รอบด้านต่อไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น